การซักประวัติ
การซักประวัติ หมายถึงการถามประวัติคนไข้ ประวัติครอบครัว ประวัติการเจ็บป่วยทั้งปัจจุบันและอดีต ผู้ศึกษาจะต้องมีไหวพริบช่างสังเกตุ ซึงเป็นศิลปะอันสำคัญของแพทย์ในการซักประวัติ และวิธีการตรวจโรคนี้ เป็นการยากที่จะวางแผนตายตัวลงไปได้ แต่เมื่อสรุปแล้วหลักใหญ่ๆ ในการตรวจโรค มีหลัก อยู่ 4 ประการคือ
1.ถามประวัติคนไข้และครอบครัว นาม ตำบลที่อยู่ ที่เกิด สัญชาติ อายุ อาชีพ ความประพฤติที่เคยชิน โรคทีเคยเป็นมา ถามถึงครอบครัวที่ใกล้ชิด สำหรับการพิเคราะห์เผ่าพันธ์ อันเป็นหนทางให้ให้โรคติดต่อถึงกันได้
2.ถามประวัติโรคทั้งอดีตและปัจจุบัน เช่น ถามวันเวลาที่แรกป่วย เริ่มป่วยมีอาการอย่างไร อาการต่อมา การรักษาพยาบาล แล้วอาการผันแปรอย่างไรในวันหนึ่งๆ ปัจจุบันเวลาที่ตรวจมีความสำคัญอย่างไร
3.การตรวจร่างกายและจิตใจคนไข้นั้น เช่นตรวจดูลักษณะรูปร่าง ผิวพรรณ กำลัง สติอารมณ์ ทุกขเวทนา ตรวจการหายใจเป็นอย่างไร ตรวจอวัยวะ หัวใจ ตับ ปอด ม้าม ลิ้น ตา ตรวจเหงื่อ และส่วนที่พิการซึ่งแลเห็น
4.การตรวจและถามอาการนั้น เช่น วัดปรอท ดูความร้อน ตรวจชีพจร อุจจาระ ปัสสาวะ(ถามและตรวจ) ถามถึง การบริโภคอาหาร การหลับนอน ความรู้สึกภายในภายนอก และในปากในคอ
*ในหลักการตรวจโรคที่กล่าวมาแล้วแต่ต้นเหล่านีไม่ใช่ว่าจะต้องตรวจแก่คนไข้ รายหนึ่งๆทุกข้อ ทุกหลักไป ก็หามิได้ ย่อมสุดแท้แต่เหตุผลของความเจ็บไข้ ที่ปรากฎไปถึง ขอให้อยู่ในความ วินิจฉัยของแพทย์ ตามสมควร
วิธีการตรวจโรค ธรรมดาแพทย์ที่จะรักษาโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ก็จะต้องตรวจอวัยวะใหญ่น้อย ให้รอบคอบ เพื่อจะได้รู้ความเป็นไปของโรคนั้น ดังจะได้อธิบายวิธีตรวจต่อไปนี้-
•ตรวจชีพจร – เพื่อทราบความหนักและเบาของโรค
•ตรวจเส้น อัษฎากาศ เส้นสุมนา เส้นอัมพฤกษ์
•ตรวจร่างกาย – เพื่อรู้ว่าส่วนพิการในที่หนึ่งที่ใด
•ตรวจจักษุ – เพื่อรู้อาการของโรคซึ่งแสดงทางจักษุ มีสีแดง เขียว ขาว เป็นต้น
•ตรวจ ปาก ลิ้น ขากรรไกร เพื่อรู้ความเป็นแผลเป็นละออง เป็นเม็ดและพิการอื่นๆ ในที่นั้น
•ตรวจหทัง(หัวใจ)
•ตรวจปัปผาสัง ( ปอด)
•ตรวจยกนัง( ตับ)
•ตรวจวักกัง(ม้าม)
•ตรวจอันตัง(ไส้ใหญ่) อันตะคุณัง(ไส้น้อย) ตลอดถึงกระเพาะอาหาร
•การตรวจปัสสาวะ เพื่อรู้สี แดง ดำ เขียวเหลืองขุ่นข้นเจือมาในปัสสาวะนั้นกับการถ่ายปัสสาวะสะดวกหรือไม
•ตรวจปิหะกัง(ไต)
•ตรวจมดลูก
•ตรวจเฉพาะที่ป่วย เพื่อรู้ว่าเป็นแผลฟกช้ำ เคล็ด ยอก บวม
•ตรวจอุจจาระ ทั้งถามทั้งตรวจด้วยตนเอง เพื่อรู้หยาบ ละเอียด สีดำ แดง เขียว ขาว เหลือง
•ตรวจปัสสาวะ ทั้งตรวจและถาม เพื่อรู้สีแห่งปัสสาวะ สีดำ แดง เหลือง เขียว ขาว ขุ่น ข้น เบาสะดวกหรือไม่
การตรวจโรคโดยความสังเกต
1.ตรวจสติอารมณ์ เพื่อรู้ความปกติ หรือ ความฟั่นเฟือน แห่งกำลังใจ ของผู้ป่วย
2.ตรวจเสียง เพื่อรู้ว่าเสียง นั้นปกติ หรือแหบ แห้ง และวิปริตอย่างไร
3.ตรวจการหายใจ เพื่อรู้อาการ เร็ว ช้า สั้น ยาวหนัก เบา
4.ตรวจทุกเทนา เพื่อรู้อาการหนัก เบา ต่างๆ ที่มีกับผู้ป่วย
การตรวจโดยวิธีการถาม
– เมื่อก่อนจะเจ็บ มีเหตุอย่างไร เพื่อประสงค์ รู้มูลของโรคที่ได้เกิดขึ้น
– ล้มเจ็บมาแต่ วัน เดือน และเวลาใด เพื่อ รู้ฤดูสมุฏฐาน กาล สมุฏฐาน
– แรกเจ็บมีอาการอย่างไร เพื่อรู้อาการหนักเบา ของโรคที่เป็นมาแล้ว
– อาการที่รู้สึกไม่สบายในวันหนึ่งๆ เวลาใด เพื่อรู้กาล สมุฏฐาน
5.การรักษาพยาบาลแล้ว มีอาการเป็นอย่างไร เพื่อรู้การผันแปรของโรค
6.เจ็บมาได้กี่วัน เพื่อรู้อายุของโรค ซึ่งตกอยู่ในระหว่างโทษชนิดใด
7.ผู้ป่วยอายุเท่าไร เพื่อรู้อายุสมุฏฐาน
8.โรคประจำตัวมีอย่างไร เช่น ริดสีดวง หืด โรคบุรุษ ๆลๆ เป็นต้น
9.ความประพฤติที่เป็นอยู่เนืองนิตย์ของผู้ป่วย เช่น สูบฝิ่น ดื่มสุรา และประกอบอาชีพ และอิริยาบถสำหรับร่างกาย
10.การนอนของคนไข้ เพื่อรู้ว่าหลับมากน้อย หรือหลับสนิทหรือไม่ หรือไม่หลับ
11.บริโภคอาหารเป็นอย่างไร ได้มากหรือน้อย มีรสอร่อยหรือไม่
12.ความทุกขเวทนาเป็นอย่างไร เพื่อรู้ความปวด ขัด ยอก จุกเสียดในที่ใด ทั้งภายใน และภายนอก
13.ความรู้สึกในปาก ลิ้น คอ และในที่ต่างๆ เพื่อรู้เป็นปกติหรือพิการ
* เมื่อตรวจและถามพอกับความต้องการแล้ว ต่อไปเป็นหน้าที่ของแพทย์จักต้องวินิจฉัยหาเหตุและผล ตามหลักของสมุฏฐานต่างๆ ว่า โรคที่เกิดขึ้นนี้ มีสมุฏฐานอะไร เป็นเหตุและธาตุใด พิกัดใด พิการบ้าง รวมธาตุที่พิการมีกี่อย่าง ความรู้แผนกนี้ แพทย์จะต้องรู้ให้รอบคอบทุกประการ
วิธีการวินิจฉัยโรค
•มูลให้เกิดโรคในคราวนี้มี ๑๒ ปราการ เช่นฤดูเปลี่ยนแปลงเป็นต้น ได้กับสิ่งใดเป็นมูลให้เกิดโรคขึ้น
•โรคคราวนี้ มีธาตุใด พิกัดใด ที่พิการนั้นมีกี่อย่างรวมกี่อย่าง เพื่อจะได้แก้ไขให้ตรงตามหลักของธาตุสมุฏฐาน
•ผู้ป่วยตั้งแต่แรกเป็นจนถึงวันที่ตรวจอยู่ในเกณฑ์ฤดูสมุฏฐานอะไร พิกัดอะไร
•ผู้ป่วยอายุอยู่ในวัยใด ในวัยนั้นเป็นอายุและสมุฏฐานอะไร พิกัดอะไร และสิ่งใดให้โทษ
•เวลาผู้ป่วยไม่สบาย มีการกลุ้มอกกลุ้มใจเป็นต้น หรือถึงเวลาจับไข้อยู่ในกาลสมุฏฐานใด พิกัดใด และสิ่งใดให้โทษ
•ตั้งแต่วันแรกป่วยจนถึงวันที่ตรวจ รวมได้กี่วัน เพื่อรู้อายุของโรคนั้นตกอยู่ในโทษใด(มีเอกโทษเป็นต้น)
•ควรรู้ว่า ธาตุใดกำเริบ หย่อน พิการ นับตั้งแต่วัน เดือน และเวลาแรกป่วย จนถึงวันที่ตรวจ เพื่อจะได้รู้โรคคราวนี้ ตกอยู่ในส่วนใด
การวิจารณ์ในการรักษา และวิธีประกอบยาให้ตรงกับโรค
•โรคนี้ตามแพทย์ได้สมมุตติไว้ว่า เป็นโรคอะไร และชื่อว่าโรคอย่างใด
•โรคนี้จะต้องใช้ยาสรรพคุณอย่างไร และยาชนิดใดแก้ จึงจะตรงกับโรค
•โรคนี้จะต้องแก้ธาตุใด สมุฏฐานใด พิกัดใดก่อนจึงจะควรกับโรคนั้น
•โรคในคราวนี้มีธาตุใด สมุฏฐานใด พิกัดใด เป็นหัวหน้าที่ให้โทษร้ายแรง( เพื่อจะได้แก้ไขเสียก่อน)
* เมื่อได้วางยาแก้ไข้แล้ว โรคนั้นยังไม่ถอย ควรจะต้องตรวจและพิจารณา เหตุผลของโรคนั้นอีก ส่วนยาก็จะต้องเปลี่ยนหรือเพิ่มเพิ่มเติมขนานอื่นๆ อีกต่อไป แล้วแต่จะสมควรกับโรค
การวินิจฉัยโรค ( การประมวลโรค)
การตรวจโรคตามที่กล่าวมาแล้ว และยังมีการตรวจอีกหลายวิธีนั้น มิใช่ว่าแพทย์จะต้องทำการตรวจทุกสิ่งทุกอย่างไปก็หามิได้ ย่อมสุดแต่ความเหมาะสมกาลเทศะสำหรับคนไข้รายใดรายหนึ่ง แล้วแต่เหตุผล ที่จะต้องเกี่ยวโยงไปถึง ซึ่งจะต้องขอมอบให้เป็นความสามารถของแพทย์ผู้ได้ลงมือปฎิบัติกับคนไข้เฉพาะหน้า เมื่อตรวจแล้ว พอที่จะสรุปความเห็นวินิจฉัยประมวลโรคได้ โดยอาศัยหลัก 5 ประการดังนี้
1.คนเจ็บป่วยด้วยการเช่นนี้ มีอะไรพิการอยู่ในสมุฏฐานและพิกัดใด รวมความแล้วควรจะสมมุติเรียกว่าโรคอะไร
2.โรคนั้นมีที่เกิดแต่อะไรเป็นเหตุ รีบคิดค้นเมื่อได้ความแล้ว พึงเอาอาการนั้นๆมาเป็นหลักวิเคราะห์ว่า คนเจ็บนั้นเกิด โรคด้วยเหตุอันใด
มีอะไรขาดหรือเกินหรือกระทบกระเทือน อะไร จึงเป็นเหตุให้เจ็บไข้
3.โรคเช่นนี้จะบำบัดแก้ไขโดยวิธีการใดก่อน เมื่อเห็นทางแก้ไขแล้วจึงวิเคราะห์เลือกยาที่จะใช้บำบัดต่อไป
4.สรรพคุณยาอะไร จะต้องใช้อย่างละมากน้อยเท่าใด ให้รับประทานเวลาอะไร ขนาดเท่าใด
5.เริ่มวางยาตามลักษณะโรคที่ตรวจพบ สุดแต่จะเห็นสมควรจะให้ยาบำบัดโรคที่ทรมานสำคัญอย่างใดก่อน
ส่วนยาที่ที่ท่านตั้งตำรับบอกวิธีให้ทำไว้ จักต้องใช้อะไรมีส่วนเท่าไร เมื่อปรุงผสมแล้วเรียกชื่อว่า อย่างไร ยาสำหรับแก้โรคต่างๆนั้น ท่านกล่าวไว้ในคัมภีร์แพทยศาสตร์ฉบับหลวง และเวชศึกษาอย่างมากมาย ล้วนแต่เป็นตำรายาที่ดีทั้งสิ้น ซึ่งเคยบำบัดโรคร้ายหายมาแล้วทั้งนั้น เมื่อท่านจะจัดปรุงขึ้น จงใช้ความพยายามอย่างประณีต ในการคัดเลือกชั่งตวงให้ถูกต้องจริงๆ จงสงวนศักดิ์ของยาไทยไว้ ให้เป็นยาที่มี สรรพคุณอนันต์อันหาคามิได้ และสมควรเป็นตำรับคู่มือที่ทรงเกียรติ แต่แพทย์แผนโบราณ ซึ่งได้ศึกษา สืบมรดก ต่อมา ท่านจะได้เป็นเวชกรผู้เชี่ยวชาญไปในภายภาคหน้า
ที่มา : สมุนไพรดอทคอม
กดถูกใจ (
Like) ติดตามข่าวสารจาก
มงคล